Website Statistics
ออนไลน์ขณะนี้ 1
วันนี้ 6
เดือนนี้ 530
ทั้งหมด 87,099
วันที่ Update ล่าสุด   25 April 2024
 
  NEWS & EVENT  
หน้าร้อนระวังอาหารทะเลทำพิษ ท้องเสีย-ท้องร่วง
กรมอนามัย เตือนกินอาหารทะเลหน้าร้อนไม่สะอาดเสี่่ยงท้องเสีย (กรมอนามัย)

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนกินอาหารทะเลไม่สะอาดช่วงหน้าร้อนเสี่ยงท้องเสีย แนะวิธีเลือกอาหารทะเลที่สดใหม่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี และปรุงสุกเสมอ เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร

          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะทะเล จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาหารทะเลจึงเป็นเมนูยอดฮิตและขายดีเป็นพิเศษ แต่ อุณหภูมิที่สูงในช่วงหน้าร้อน ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหารทะเลเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษได้

          ทั้งนี้ จากสถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชนด้วยระบบทางเดินอาหารในปี 2555 พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 1,164,902 ราย เสียชีวิต 38 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จำนวน 1 ล้านกว่าราย เสียชีวิต 37 ราย รองลงมา คือ โรคอาหารเป็นพิษ พบผู้ป่วยประมาณ 98,000 ราย เสียชีวิต 1 ราย และโรคบิด จำนวน 5,645 ราย

          นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า การเลือกรับประทานอาหารทะเลที่สะอาด ปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกร้านอาหารที่ได้รับป้ายมาตรฐานร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ซึ่งร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์จะสร้างความมั่น ใจในเรื่องของความสะอาด ปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนจากเชื้อโรคให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

หากผู้บริโภคต้องการซื้ออาหารทะเลมาปรุงเองที่บ้าน วิธีการเลือกซื้อต้องคำนึงถึงความสดและความสะอาด เช่น

           การเลือกซื้อปลาต้องเลือกเนื้อปลาที่เนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นคาว เกล็ดไม่มีรอยแยกหรือแตกออก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในเนื้อปลาได้ง่าย

           การเลือกซื้อปู ตาปูต้องใส และดูที่น้ำหนัก

           การเลือกซื้อกุ้ง หัวกุ้งต้องใส หัวกับตัวจะยังติดกันแน่น เพราะกุ้งที่ไม่สด หัวหรือส่วนที่เป็นเปลือกส่วนหัวจะไม่ติดกับตัว หรือเลือกซื้อจากตลาดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ

          ที่สำคัญไม่ควรรับประทานอาหารทะเลดิบ ๆ โดยต้องปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะก่อนรับประทานด้วยการใช้ความร้อนให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ผู้ปรุง อาหารต้องล้างมือทุกครั้ง ก่อน-หลังสัมผัสอาหารด้วยสบู่และน้ำสะอาด ไม่ควรใช้เขียงร่วมกันระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ หลังปรุงอาหารเสร็จต้องทำความสะอาดภาชนะทันที เพื่อป้องกันกลิ่นคาวและมีแมลงวันตอม และภาชนะสำหรับใส่อาหารต้องสะอาดมีฝาปิดให้มิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและแพร่กระจายของเชื้อโรค

          อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า อาหาร ทะเลเป็นอาหารที่ให้คุณค่าสารไอโอดีนที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยป้องกันโรคคอพอก โรคเอ๋อ และช่วยในการพัฒนาการเจริญเติบโต เสริมสร้างสติปัญญา ซึ่งหากร่างกายของคนเราขาดสารไอโอดีนแล้ว ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความพิการทางสติปัญญาและพัฒนาการที่มีความผิดปกติ เช่น ความเตี้ย โรคแคระแกรน สติปัญญาด้อย เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารทะเล ผู้บริโภคต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่การเลือกซื้อ ปรุง บริโภค โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนเป็นช่วงที่เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตและแพร่กระจาย ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงแต่อาหารทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอาหารทุกประเภทอีกด้วย